เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[407] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดมีความพิศวงยิ่งนัก
จึงได้พากันประนมมือเหนือศีรษะ พูดว่า
‘ข้าแต่พระแม่เจ้า อย่างไร พระแม่เจ้าจึงมีความบากบั่น มีฤทธิ์
หาสิ่งใดเปรียบปานมิได้’
[408] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนางนาคกัญญามีนามว่าวิมลา
หมู่นาคยกย่องว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกนางนาคกัญญา
[409] พญานาคชื่อมโหรคะ
เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงมีเดชานุภาพมาก พร้อมทั้งพระสาวก
[410] ตกแต่งมณฑปแก้ว บัลลังก์แก้ว
โปรยทรายแก้ว เครื่องอุปโภคแก้ว
[411] และตกแต่งหนทางประดับด้วยธงแก้ว
พญานาคนั้นบรรเลงดนตรี
ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[412] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงแผ่ขยายบริษัท 4 ประทับนั่งบนอาสนะ
อันประเสริฐในภพของพญานาคชื่อมโหรคะ
[413] พญานาคได้ถวายข้าวน้ำ
ขาทนียะและโภชนียาหารอย่างดี ๆ มีราคามาก
แด่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระยศใหญ่
[414] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นเสวยเสร็จแล้วทรงล้างบาตร
ได้ทรงทำการอนุโมทนาอันสมควร
โดยอุบายอันแยบคายว่า ‘นางนาคกัญญาจงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :442 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. เอกูโปสถิกวรรค] 9. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[415] นางนาคกัญญา เห็นพระสัพพัญญู
ผู้เบิกบาน มีพระยศมาก
จึงทำจิตให้เลื่อมใส ทำใจให้มั่นคงต่อพระศาสดา
[416] ครั้งนั้น พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงทราบวาระจิตของหม่อมฉันแล้ว
ทรงแสดงภิกษุณีรูปหนึ่งด้วยฤทธิ์
[417] ภิกษุณีรูปนั้นมีความแกล้วกล้าแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
หม่อมฉันเกิดปีติปราโมทย์ได้กราบทูลพระศาสดาว่า
[418] ‘หม่อมฉันได้เห็นฤทธิ์ทั้งหลายที่ภิกษุณีรูปนี้แสดงแล้ว
ข้าแต่พระธีรเจ้า อย่างไร ภิกษุณีรูปนั้นจึงเป็นผู้แกล้วกล้าดีในฤทธิ์’
[419] (พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสตอบว่า)
‘ภิกษุณีรูปนั้นเป็นธิดาที่เกิดจากโอษฐ์ของเรา
ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา มีฤทธิ์มาก มีความแกล้วกล้าดีในฤทธิ์’
[420] หม่อมฉันได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว
มีความยินดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
‘แม้หม่อมฉันก็ขอเป็นผู้มีความแกล้วกล้าในฤทธิ์เช่นนั้น
[421] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
หม่อมฉันเบิกบานโสมนัส มีใจสูงสุดถึงที่แล้ว
ขอให้ได้เป็นเช่นภิกษุณีรูปนี้ในอนาคตกาลเถิด’
[422] หม่อมฉันตกแต่งบัลลังก์แก้วมณี
และมณฑปที่ผุดผ่องแล้ว
ทูลนิมนต์พระผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์
ให้เสวยและฉันข้าวน้ำจนอิ่มหนำ
[423] แล้วได้ใช้ดอกอุบลที่มีชื่อว่าอรุณ
ซึ่งเป็นดอกไม้อันประเสริฐของพวกนาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :443 }